ปัจจุบันกรมทางหลวงชนบทมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในความรับผิดชอบใน เขตกรุงเทพมหานคร ทั้งสิ้น 11 แห่ง ซึ่งปัจจุบันวิถีชีวิตและระบบคมนาคมขนส่งในชุมชนเมืองของกรุงเทพมหานครมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สภาพกายภาพและการใช้ประโยชน์โดยรอบพื้นที่บริเวณสะพานยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มศักยภาพ อีกทั้งพื้นที่ตั้งของสะพานหลาย ๆ แห่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การก่อสร้างสะพานของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ เรื่องราวทางด้านวิศวกรรมการก่อสร้างสะพาน ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรม และภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ กรมทางหลวงชนบท ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบคมนาคมในเขตเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบทให้เป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เป็นจุดพักในการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางบกโดยรถโดยสารประจำทางกับระบบขนส่งทางน้ำโดยเรือโดยสารประจำทาง อีกทั้งยังสามารถใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีพื้นที่ออกกำลังกายสำหรับประชาชนควบคู่ไปกับการได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการออกแบบสะพานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและผู้สนใจ รวมไปถึงการเป็นจุดหมุดหมายสำคัญเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางและสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกทางหนึ่ง
กรมทางหลวงชนบท จึงมีแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณสะพานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้แก่ สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ สะพานพระราม 7 และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ให้เป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะร่วมกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว สามารถตอบสนองและสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้นและเป็นจุดให้บริการข้อมูลการท่องเที่ยวให้แก่นักเดินทางได้อีกด้วย